วันนี้วันที่ 5 มิถุนายน 2550 นาย TBC มาเข้าเวรรับใช้ มิตรรักชาวสายพานเช่นเคย หลังจากหายหน้าหายตาไปร่วม 2 สัปดาห์ ไม่ได้มารับใช้ท่านด้วยอาหารสมอง เรื่องของสายพาน แต่นาย TBC ไม่ได้เกเรออกนอกลู่นอกทาง ไปไหนหรอกครับ ยังคงวนเวียนอยู่ในแวดวงสายพานนี้อยู่ดี เวลาที่ห่างจากท่านไปครั้งนี้ นาย TBC มัวแต่ยุ่งเรื่องทำมาหากินอยู่คร้าบ.....
เนื่องจากเหตุว่า นาย TBC ได้รับ e-mail จากบริษัทของเกาหลี (บ้านเกิดของแดจังกึมไง จำกันได้ไหมเอ่ย ) ที่ชนะการประมูลโรงงานไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP-Small Power Producer) โดยมีเจ้าของงานคือกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานขนาดใหญ่ แห่งหนึ่งในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ โดยบริษัทเกาหลีได้เชิญชวน บริษัทสายพานไทย ให้ร่วมประมูลระบบ turn key ก่อสร้าง "ระบบลำเลียงถ่านหิน -Coal Handling System" ซึ่งใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง สำหรับให้ความร้อนแก่น้ำ ให้กลายเป็นไอไปปั่น Turbine เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า นาย TBC ก็เพิ่งจะมีเวลาว่าง และพลาดไม่ได้ที่จะเก็บเรื่อง Aerobelt (ระบบลำเลียงแบบอัดอากาศ) ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ มาฝากชาวสายพานได้รับรู้ เทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบลำเลียงใหม่ๆบ้าง เป็นยังไงเดี๋ยวค่อยติดตาม
วกกลับมาเรื่องการประมูลระบบลำเลียงถ่านหินอีกครั้งหนึ่ง ผู้ประมูลโครงการได้ ให้การบ้าน บริษัทสายพานไทยโดยบอกสั้นๆ ว่า cost(ราคา) ต้องถูกแข่งขันได้ quality (คุณภาพ) ต้องดี time (เวลา) ดำเนินการต้องกระชับ พูดง่ายๆก็คือ ของต้องดี ราคาต้องถูก บำรุงรักษาต้องง่าย ความปลอดภัยต้องเจ๋ง สิ่งแวดล้อมต้องเยี่ยม เมื่อความต้องการของภาพโครงการออกมาใน Theme นี้ นาย TBC ก็ปิ๊งขึ้นมาทันที งานนี้ไม่มีระบบลำเลียงอะไรที่เหมาะสมมากกว่า Aerobelt (ระบบลำเลียงสายพานแบบอัดอากาศ) อีกแล้ว นาย TBC ก็เลยรีบ e-mail แจ้ง partner ทางธุรกิจของ บริษัทสายพานไทย ที่มีความชำนาญเป็นอันดับต้นๆของโลก เกี่ยวกับระบบลำเลียงสายพานแบบอัดอากาศ
โดยบริษัทนี้ชื่อ Aerobelt c.c. จากประเทศอัฟริกาใต้ ซึ่ งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีนี้ และสร้างระบบสายพานระบบอัดอากาศ ประสบผลสำเร็จอย่างงดงามในประเทศอัฟริกาใต้ มาเป็นเวลานานกว่า 20 ปีแล้ว
โครงการ coal handling system เป็นโครงการก่อสร้างระบบสายพานที่จะใช้ลำเลียงถ่านหิน ที่รับมาจากท่าเรือ เพื่อนำขึ้นไซโลที่ความสูงระดับประมาณ 45 เมตรจากพื้นดิน ดังนั้น line สายพานที่ว่านี้ก็ต้องติดตั้งอยู่ในตำแหน่งสูงประมาณๆกันคือ 45 เมตรจากพื้นดิน โดย line สายพานมีความยาวประมาณ 115 เมตร โครงสร้างของสายพานตั้งอยู่อยู่บนโครงเหล็กถัก (TRUSS) ขนาดใหญ่ ซึ่งรองรับโดยฐานโครงเสาเหล็กถัก ขนาดมหึมาจำนาวน 2 ต้น ห่างกัน (span) ประมาณ 30 เมตร ตัวระบบลำเลียงจะถูกคลุมด้วยโครงสร้างปิดทึบ รูปทรงกลมคล้ายท่อ( pipe enclosure) เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เมตร ภายในติดตั้งระบบระบายอากาศ ระบบดับเพลิง ระบบกรองฝุ่น และระบบอื่นๆ ที่จำเป็นอีก 2-3 ระบบ lineสายพานที่ยาว 115 เมตรนี้จะนำถ่านหินมาจ่ายลง shuttle conveyor ซึ่งสามารถเดินสายพานไป-กลับสองทาง (Reversible) ได้ shuttle conveyor นี้จะเป็นตัวจ่ายถ่านหินด้วยปริมาณ 800 ตันต่อชั่วโมง ลงไปในไซโลสองลูกซ้าย-ขวา เอาคร่าวๆ ให้เข้าใจแค่นี้ก่อน สมมุติว่าหากท่านต้องเป็นผู้ใส่ราคาโครงการนี้ มีข้อสังเกตุอะไรบ้างที่ท่านต้องพิจารณา ก่อนใส่ตัวเลข ขอให้ท่านโปรดดูรูปประกอบไปด้วยนะครับจะได้เข้าใจเรื่องดียิ่งขึ้น
ถ้าหากเป็นนาย TBC อันดับแรกเลยที่ท่านจะต้องพิจารณา คือ ความสูงของโครงการมีผลต่อโครงสร้างราคาอย่างมาก เพราะความสูงมีผลกระทบกับประสิทธิภาพ(ทำงานยาก) เวลา (ใช้เวลานาน)และค่า overhead เช่น เช่าเครนเพื่อประกอบโครงสร้างย่อมแพงมากๆ (รายการนี้ต้องพิจารณาให้ดีที่สุดเลย ) หากจำนวนชิ้นส่วนและน้ำหนักของโครงสร้าง Conveyor มีปริมาณไม่มาก การใส่ประมาณการราคาต่อหน่วยน้ำหนัก (เช่น ราคาเหล็กกี่บาทต่อกิโลกรัม ราคา fabrication ราคากี่บาทต่อกิโลกรัม) เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก และมีโอกาสผิดพลาดและขาดทุนสูงมาก (ใส่ราคาต่อหน่วยสูงก็อดได้งาน...ใส่ต่ำก็ขาดทุน) ดังนั้นควรเอาใจใสอย่างรอบคอบ
อันดับที่สองที่ต้องพิจารณา คือ ข้อมูลทางด้านเทคนิค ซึ่งจะสำคัญมากเช่นกันหาก Concept การออกแบบมีการผิดพลาดตั้งแต่เริ่มตอนแล้ว โอกาสที่จะแก้ไขทำให้ดีนั้นทำได้ยาก สำหรับ project นี้ ระบบลำเลียงอยู่ภายในต้วโครงสร้าง pipe enclosure ที่ต้องอยู่ท่ามกลางความร้อนจากแสงแดดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าโครงสร้างเหล็กนี้ ตั้งอยู่ในทิศทางที่ต้องถูกแสงแดดส่อง ในทิศทางเดียวกันเป็นเวลานานๆ นั่นแหละปัญหาเริ่มเกิดขึ้นได้แล้ว "โครงเหล็ก ขยาย-หด ตัว " อย่างที่ทุกท่านคงทราบดีว่า เหล็กด้านที่ถูกความร้อน จะขยายตัวมาก ส่วนด้านที่เย็นกว่าจะขยายตัวน้อยกว่า เมื่อเราหลับตานึกภาพ ท่อเหล็กกลมๆเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 เมตร ตรงๆ ยาวประมาณ 115 เมตร เมื่อถูกความร้อนเหล็กจะขยายตัว ทำให้โครงสร้าง (TRUSS)ด้านที่ถูกแสงแดดขยายตัวยืดยาวขึ้น ส่วนโครงสร้างด้านที่ถูกแสงแดดน้อย ได้รับความร้อนน้อยกว่าก็จะยืดตัวน้อยกว่า ถ้าปลายทั้งสองของโครงสร้างนี้ยึดแน่น (FIX) โครงสร้างที่มีความยาว 115 เมตร จะแอ่นตัวโค้งเป็นรูปคล้ายๆ กับส่วนหนึ่งของวงกลม ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามาก็คือ สายพานจะเกเรเดินไม่ตรงแนวเนื่องจาก ตัวระบบ conveyor ที่อยู่ภายในโครงสร้างมันก็ต้องโค้งงอไปตามโครงสร้างหลักนั้นด้วย (เพราะมันติดอยู่บนโครงสร้างหลัก) ทำให้แนวของ conveyor stringer ก็มีโอกาสผิดเพี้ยนได้ ทั้งที่การติดตั้งในครั้งแรก ได้แนว ตรง (straight) ขนานกัน (Parallel) ได้ฉาก (square) และทำการ test จน ได้ Alignment ทุกอย่าง เหตุเพราะผู้ออกแบบอาจจะมองข้ามจุดนี้ไปก็เป็นได้
เอาล่ะเมื่อทันเกิดขึ้นมาแล้วจะแก้ไขอย่างไร ก็ต้องเริ่มต้องมาดูที่สาเหตุของปัญหา คือความร้อนจากแสงแดด ถามว่าเราสามารถห้ามพระอาทิตย์ไม่ให้ส่องแสงได้มั๊ย!ถ้าไม่ได้จะทำอย่างไงดีล่ะ?!? คิด..คิด..คิด..สาเหตุของปัญหาคือความร้อนทำให้เหล็กขยายตัวไม่เท่ากัน ดังนั้นถ้าเกิดความร้อนน้อยเหล็กก็จะขยายตัวน้อย ปัญหาก็น้อยตามไปด้วยใช่มัย !! ใช่แน่เลย...ยูเรก้า..ไชโย!!! แต่จะทำยังไงดีล่ะ..ติ๊กต๊อกๆๆ..มุงหลังคางัย..มุงหลังคา(หรือทำ insulation) ให้โครงสร้างของ Conveyor ทั้งหมดเลย นอกจากจะช่วยลดความร้อน(อุณหภูมิ)ได้แล้วยังช่วยให้ ทีมงานฝ่ายบำรุงรักษาของ ผู้ปฏิบัติงานมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย มุงเลยพี่..รีบมุงหลังคาเลยเสร็จแล้ว เอาล่ะสบายใจแล้วใช่มั๊ย เพราะว่าได้ใส่เสื้อกันร้อนให้conveyor แล้ว
วัสดุสีแดงๆนี่แหละที่เราเอามาช่วยลดความร้อน
ปัญหาจบแล้ว ไปฉลองกันได้ แต่???????? แก้ปัญหาเรื่องนี้หนึ่งสำเร็จ อาจจะเป็นการสร้างปัญหาใหม่อีกเรื่อง โปรดติดความบทความ "ระวังไฟไหม้สายพาน" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงสร้างที่ปิด (enclosure) จะมีโอกาสเสี่ยงมากที่จะเกิดไฟไหม้...และระเบิด อย่ากระพริบตาเป็นอันขาด
เดี๋ยวก่อน ปัญหาข้างต้น จบแค่ส่วนเดียวเท่านั้น เพื่อความมั่นใจ...ต้องออกแบบให้มีระยะเผื่อสำหรับการขยายตัว (Expansion Joint) ของโครงสร้าง conveyor ไว้ด้วยเพราะแม้ว่าจะมุงหลังคาแล้ว โครงสร้างก็ต้องมีส่วนหนึ่งที่ต้องขยายตัวอยู่ดีทำเผื่อๆไว้หน่อยนะพี่...ไม่มีเสียหายหรอก...แล้วถ้าจะให้ดีล่ะก็การยึดโครงสร้างต่างๆ ควรจะเป็น BOLT & NUT จะดีกว่าการยึดแบบเชื่อมตายแน่ๆ เพราะมันยังพอมีช่องว่างนิดหน่อยพอให้เหล็กขยายตัวอิ๊ดอ๊าดๆ เล็กๆน้อยๆได้บ้าง ถึงขั้นตอนนี้แล้วก็ได้แต่หวังว่า conveyor ของท่านจะไมเกเรและทำงานตรงไปตรงมาตลอดไปนะครับ
แต่สิ่งที่นาย TBC คิดว่าโครงสร้างนี้น่าจะมีความห่วงใยมากที่สุด คือ ระบบความปลอดภัยจากการระเบิดของฝุ่นถ่านหินโครงสร้างปิด (Enclosure structure) หากเกิดขึ้นมาก็หมายถึงความเสียหายครั้งที่แบบพิเศษสุดๆ Exclusive เฉพาะของโรงงานไฟฟ้าจริงๆ ถ้าหากระวังไว้ก่อนได้ ก็ควรที่จะทำเลยอย่างเคร่งครัดนาย TBCจะขอรบกวนน้อง AV เขียนบทความหรือความรู้เรื่องนี้มารับใช้แฟนคลับในครั้งต่อๆ ไป
บทความชิ้นนี้ ยังมีต่อ แต่อาจจะยาวมากไป หากนาย TBC จะเขียนรวมปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นของ shuttle conveyor ที่เดินสายพานไป-กลับได้ (Revetsible) นาย TBC จึงขอรับใช้ท่าน เพียงเท่านี้ไว้ก่อน ส่วนเรื่อง shuttle conveyor รับรองถ้าท่านไม่ทวงมา นาย TBC จะไม่เขียนแน่ๆ...ย้ำนะครับ ไม่เขียนแน่ๆ โอ๊ย!! เกือบลืมไป เขียนจนจบแล้วยังไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับสายพานลำเลียงแบบอัดอากาศ (Aerobelt) ตามที่ตั้งชื่อเรื่องไว้เลยเกริ่นไว้ซ่ะหน่อยนะครับให้เป็นหัวเชื้อไว้ก่อน...
Aerobelt เสียงเงียบดุจเสียงสะท้อนจากก้อนหินที่โยนลงบ่อที่ไม่มีก้น
Aerobelt เดินเรียบดุจแพรไหม
Aerobelt ช่วยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับการระเบิดของฝุ่นถ่านหินได้มากกว่าระบบสายพานทั่วไป
Aerobelt ลดการบำรุงรักษา และ รักษาสิ่งแวดล้อม
ขอจบตอนที่ 1 ไว้เพียงแค่นี้ นาย TBC ก็ชักจะเพี้ยนเหมือนโครงสร้างที่โดนความร้อนเข้าแล้ว ขออนุญาต(ภริยา) ไปแช่น้ำ(ในอ่าง) เพื่อลดอุณหภูมิความเพี้ยนเสียบ้าง จะได้มีสติรับใช้มิตรรักชาวสายพานต่อไปนานๆ ไงล่ะครับ สวัสดี!!
“...เลือกสายพานไทยไว้ดูและระบบสายพานลำเลียงของท่าน เพราะด้วยอุดมการณ์ที่ยึดมั่นในอุดมการณ์
และของทีมงาน ท่านจะวางใจได้ว่าระบบของท่านจะไม่สะดุด เพราะสายพานหยุดเดิน...”